วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ไขมันดี ไขมันเลว คืออะไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารที่เรารับประทานทุกวันนี้ มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า อาหารบางชนิดก็เกิดโทษอย่างที่เราคาดไม่ถึงเหมือนกัน เช่น อาหารที่มีไขมันสูงอาจจะทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดในคนสูงอายุเท่านั้น ปัจจุบันเราพบภาวะไขมันสูง และมีโรคเส้นเลือดอุดตันในคนหนุ่มสาวได้เช่นกัน

เนื่องจากคนไทยเรายุคนี้ แนวโน้มของการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะมากขึ้นจากอิทธิพลของชาวตะวันตก จึงพบว่าคนไทยเรามีอัตราเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้นไปด้วย

นอกจากนั้น ความอ้วนและการชอบรับประทานอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ ก็เป็นปัจจัยเสริมของการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้

เนื่องจากปัจจุบัน เรามีการศึกษาเรื่องไขมันและโทษของไขมันมากขึ้น จึงอยากให้มาทำความรู้จักกับไขมันในเลือด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม (เพื่อสะดวกในการจำและนำไปใช้) ดังนี้

1. ไขมันเลว (ถ้ามีปริมาณมากจะเป็นโทษต่อร่างกาย) ได้แก่ โคเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, LDL, ไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) นอกจากนั้นก็มีไขมัน TFA (TFA คือ ไขมันดี ที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมหรือทางเคมีแล้วกลายเป็นไขมันเลวTFA อย่างเช่น การกลั่นน้ำมันพืช(การกลั่นต้องใช้ความร้อนสูงมาก) หรือกระบวนการทำให้อาหารกรอบ เช่น คุ๊กกี้ขนมกรอบ ที่เติมไฮโดรเจนเพื่อให้อาหารกรอบ เป็นต้น)

2. ไขมันดี ได้แก่ HDL,
เลซิติน, ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fat) (ซึ่งรวมถึงไขมัน โอเมก้า 3 ด้วย) พวกนี้จัดเป็นไขมันดี ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดอุดตันในสมองและหัวใจ

เราควรรู้ค่าปกติของ ไขมันในเลือดบางตัวที่เราสามารถตรวจวัดได้ดังนี้

1. โคเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) เป็น
โคเลสเตอรอลทุกชนิดรวมกัน ค่าปกติไม่ควรเกิน 200 mg% หากใครมีสูงกว่ากำหนด ต้องงดอาหารจำพวก เช่น ไข่แดง, ไขมันสัตว์, เครื่องในสัตว์ ซึ่งอาหารเหล่านี้มีโคเลสเตอรอลสูงแทบทั้งสิ้น

2. HDL เป็นไขมันดี ค่ายิ่งสูงยิ่งดี, ถ้าต่ำกว่า 40 mg% ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจ การสูบ บุหรี่, ภาวะอ้วน, ภาวะขาดอาหาร จะทำให้ HDL ต่ำลงได้ ส่วนการออกกำลังกายจะทำให้ HDL เพิ่มขึ้น การดื่มไวน์แดงจำนวนเล็กน้อยเป็นประจำพบว่าเพิ่มไขมัน HDL ได้ถึง 5-10%

3. LDL เป็นไขมันเลว ปกติไม่เกิน 130 mg% ถ้าเกิน 160 mg% จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น การควบคุมว่าจะเข้มงวดมากน้อยเพียงไร, ต้องกินยารักษาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามีโรคอย่างอื่นที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจร่วมอยู่ด้วยหรือไม่

4. ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันเลวอีกชนิดหนึ่ง ถ้าสูงมากจะเกิดตับอ่อนอักเสบได้ หรือเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้ ค่าปกติไม่ควรเกิน 200 mg% พบมากในอาหารจำพวกแป้ง, น้ำตาลและของหวาน

ส่วนไขมันอิ่มตัวหรือไขมันไม่อิ่มตัวนั้น เราตรวจเลือดวัดออกเป็นตัวเลขไม่ได้ ต้องควบคุมปริมาณที่กินเข้าไป โดยต้องทราบว่า ควรกินไขมันพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

ไขมันอิ่มตัวนั้น ไม่ควรกินมากกว่า 10% ของอาหารในแต่ละวัน ในฉลากอาหารมักจะเขียนเปอร์เซ็นต์ของไขมันอิ่มตัวว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ให้เราทราบ ไขมันอิ่มตัวพบมากในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก, เบคอน, นม, เนย, นอกนั้นก็จะพบในมาการีน, กะทิ, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์ม ไขมันอิ่มตัวนี้จะไปแย่งที่ไขมันที่จำเป็นของร่างกายทำให้เราเจ็บป่วยได้

ไขมันไม่อิ่มตัว จะมีหลายชนิดที่สำคัญและเรารู้จักกันดี คือ ไขมันโอเมก้า 3 และ DHA ซึ่งทั้ง 2 นี้ พบมากในน้ำมันปลา(คนละชนิดกับน้ำมันตับปลา),น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว กรดไขมันโอเมก้า 3 นี้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันรูปอื่นซึ่งทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนที่ทำให้เราเกิดความสบาย ป้องกันการบวมน้ำ บรรเทาอาการอักเสบ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน เสริมภูมิต้านทาน, ลดความดัน ปลาที่มีน้ำมันปลาสูงนั้นจะเป็น ปลาที่คาว, ส่วนที่มีน้ำมันปลามาก คือ ส่วนหัวปลา, พุงปลา, หนังปลา

การ ปรุงอาหารด้วยการทอดปลาจะเสียน้ำมันปลาไปกับน้ำมันที่ทอดได้ การนึ่ง ต้ม จะดีกว่าการย่างการกินปลาจะได้โคเลสเตอรอล ไปด้วย ฉะนั้นควรกินปลาอย่างน้อย 1 ขีด ต่อ 1-2 สัปดาห์

อาหารที่แนะนำ
นอก เหนือจากอาหารดังกล่าวมาแล้ว อาหารพวกเส้นใย ละลายง่าย เช่น ข้าวโอ๊ต, ถั่วเหลือง, โปรตีนเกษตร, เต้าหู้, ข้าวกล้อง,น้ำมันรำข้าวจมูกข้าว, มะนาว, ส้ม, แครอท พวกนี้จะช่วยลดไขมันเลวได้


ถ้าเราเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีโทษก็จะทำให้สุขภาพดี, ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บลงได้


ที่มา
พญ. ญาณนุช เมตติกานนท์
http://www.horapa.com


จำหน่ายน้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว โทร.086-9106910

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น